ความสำคัญ
วันสงกรานต์ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า สงกรานต์ แปลว่าการเคลื่อนหรือย้าย เมื่อใช้ในความหมายของวันขึ้นปีใหม่นั้นจึงหมายถึง วันที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีหนึ่งไปยังอีกราศีหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นในทุกเดือน เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่วันที่ ๑๓ เมษายน นั้นเรียกว่า สงกรานต์ปี หมายถึงการที่พระอาทิตย์ได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่จักรราศี (คือวงกลมเป็นรูปไข่บนท้องฟ้าซึ่งสมมุติว่า เป็นทางที่พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวเคราะห์โคจรผ่าน จักรราศี แบ่งเป็น ๑๒ ส่วน หมายถึง ๑๒ ราศี ซึ่งแต่ละราศีก็มีกลุ่มดาวอยู่ประจำราศีนั้น ๆ) เมษอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะตรงกับวันที่ ๑๓เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา และวันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก วันสงกรานต์ในสมัยโบราณนั้นถือว่าเป็นช่วงแห่งการพักผ่อน เนื่องจากว่างเว้น จากฤดูกาลเก็บเกี่ยว รวมถึงเป็นช่วงฤดูร้อนทำให้เกิดประเพณีการละเล่นสาดน้ำกัน
ประวัติ
ในสมัยโบราณได้ถือวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่นั้น เนื่องจากประเทศที่อยูในแถบร้อนถือว่าช่วงเวลาเริ่มต้นฤดูร้อนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ด้วยว่างเว้นจาก การทำการเกษตร อีกทั้งอากาศที่หนาวเย็นก็ผ่านพ้นไปแล้ว ด้วยในช่วงฤดูหนาวนั้นเป็นช่วงที่ทุก ๆ อย่างนั้น หยุดนิ่งไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ก็หยุดผลิดอกออกผล สัตว์ทั้งหลาย ก็หยุดนิ่งนอนจำศีล ด้วยอากาศที่หนาวเย็นนั้นไม่สะดวกในการใช้ชีวิต หรือการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั่นเอง
วันสงกรานต์จึงเป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ในประเทศแถบร้อน ซึ่งแตกต่างจากประเทศแถบหนาวดังที่กล่าวไว้ในเรื่องของวันปีใหม่ วันสงกรานต์มีทั้งหมด ๓ วันด้วยกัน ได้แก่ วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ หมายถึง ก้าวหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ คือ สงกรานต์ปี การที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ วันที่ ๑๔ เป็นเนา หมายถึง อยู่คือวันที่ถัดมาจากวันมหาสงกรานต์ ๑ วัน การที่พระอาทิตย์เข้ามาอยู่ในราศีเมษเรียบร้อยแล้ว และวันที่ ๑๕ เมษายน เป็นวันเถลิงศก หมายถึง วันขึ้นศกใหม่แต่ในส่วนของตำนานวันสงกรานต์รวมถึงประเพณีที่เกี่ยวข้องกับนางสงกรานต์นั้น มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามจะกล่าวพอสังเขปดังต่อไปนี้
ตำนานกำเนิดสงกรานต์
มีท่านเศรษฐีผู้หนึ่งไม่มีบุตรแต่ต้องการบุตรมาก ด้วยถูกนักเลงสุราที่บ้านใกล้กันนั้นกล่าวคำหยาบช้าต่อเศรษฐี ท่านเศรษฐีจึงกล่าวถามว่า "เหตุใดท่านจึง กล่าวดูถูกเราผู้มีสมบัติมาก" นักเลงสุราตอบกลับว่า "ถึงแม้ท่านเป็นผู้มีสมบัติมาก แต่ท่านก็ไม่มีบุตร เมื่อเสียชีวิตแล้ว สมบัติเหล่านี้ก็สูญเปล่า เรานั้นมีบุตร ย่อมประเสริฐกว่า" ท่านเศรษฐีจึงได้จัดพิธีบวงสรวงขอบุตรจากพระอาทิตย์ และพระจันทร์ รอนานสามปีก็มิได้เกิดบุตร เมื่ออาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ท่านเศรษฐีจึงพาบริวารไปบวงสรวงขอบุตรจากพระไทร พระไทรมีความเมตตาสงสารเศรษฐีผู้นี้ จึงได้ขึ้นไปบนสวรรค์ทูลขอบุตรจากพระอินทร์ให้แก่เศรษฐี ผู้นั้น พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลกุมารเทวบุตรลงมาเกิดเป็นบุตรของท่านเศรษฐี
เมื่อภรรยาของท่านเศรษฐีคลอดบุตร ท่านเศรษฐีได้ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ใต้ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำ และตั้งชื่อให้ว่าธรรมบาลกุมารธรรมบาลกุมารนี้เป็น เด็กที่มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างมาก เรียนรู้ไตรเทพจบเมื่ออายุ ๗ ขวบอีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ภาษานกได้อีก ความดังกล่าวได้ล่วงรู้ถึงท้าวกบิลพรหม ท่านจึงต้องการที่จะทดสอบปัญญาของธรรมบาลกุมาร ท้าวกบิลพรหมจึงได้เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อคือ
ข้อที่ ๑ เช้าราศีสถิตอยู่แห่งใด
ข้อที่ ๒ เที่ยงราศีสถิตอยู่แห่งใด
ข้อที่ ๓ ค่ำราศีสถิตอยู่แห่งใด
และตกลงกันว่า ถ้าธรรมกุมารสามารถตอบปัญหา ๓ ข้อนี้ได้ ภายใน ๗ วัน จะตัดเศียรของตนบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าธรรมบาลกุมารไม่สามารถตอบปัญหาได้ ธรรมบาลกุมารต้องตัดศีรษะของตนบูชาท้าวกบิลพรหมเช่นกัน
เวลาล่วงเลยไปถึง ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ ด้วยความกลัวอาญาท้าวกบิลพรหม ธรรมบาลกุมาร จึงได้หนีไปแอบซ่อนอยู่ใต้ต้นตาลและบนต้นตาลนั้นมีนกอินทรี ๒ ตัว ผัวเมียทำรังอยู่นกอินทรีทั้งสองได้สนทนากันอยู่ในเรื่องการออกไปหากินในวันพรุ่งนี้ นางนกอินทรี : "พรุ่งนี้เราจะไปหากินที่ไหนกันดี "นกอินทรีตัวผู้ : "พรุ่งนี้เราไม่ต้องออกไปหากินไกลหรอก ด้วยพรุ่งนี้ธรรมบาลกุมารจะต้องตัดศีรษะบูชาท้าวกบิลพรหม เนื่องจากตอบปัญหาไม่ได้"
นางนกอินทรี : "น่าสงสารกุมารน้อยยิ่งนัก ท้าวกบิลพรหมก็ช่างถามปัญหาที่มนุษย์เกินจะตอบได้"
นกอินทรีรู้สึกหมั่นไส้นางนกอินทรีจึงได้บอกถึงคำตอบที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารให้นางนกอินทรีได้รู้
นกอินทรีตัวผู้ : "ราศีแห่งมนุษย์นั้นจะสถิตอยู่ที่ร่างกายต่างวาระกัน คือ เวลาเช้าจะสถิตอยู่ที่หน้า มนุษย์จึงต้องล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีสถิตอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องปะพรมน้ำที่หน้าอก และเวลาค่ำสถิตอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้า จึงจะพ้นอัปรีย์จัญไรทั้งปวง"
ธรรมบาลกุมารเมื่อได้ยินดังนั้น ก็ได้จดจำคำตอบและนำไปบอกแก่ท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงจำต้องตัดเศียรของตนบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมมีพิษมาก คือ ถ้าตัดแล้วตั้งไว้บนแผ่นดิน แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ ถ้าโยนขึ้นสู่ท้องฟ้าฝนก็จะตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล และถ้าทิ้งลงมหาสมุทรน้ำก็จะเหือดแห้ง ท้าวกบิลพรหมจึงรับสั่งเรียกธิดาทั้ง ๗ เพื่อให้นำเศียรของท้าวกบิลพรหมไปแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในมณฑปถ้ำธุลีเขาไกรลาศ ครั้นครบกำหนด ๓๖๕ วัน (โลกสมมุติว่าเป็น ๑ปี) เป็นสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงขึ้นปีใหม่นั้นเอง นางสงกรานต์ก็จะต้องนำเศียรของท้าวกบิลพรหมแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นประจำทุกปี
นางสงกรานต์
เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ ๑ ในทั้งหมด ๖ ชั้น) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั้นเอง โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ คือวันที่ ๑๓ เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ นางสงกรานต์มีทั้งหมด ๗ องค์ ได้แก่
๑. นางสงกรานต์ทุงษเทวี
ทุงษเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ
๒. นางสงกรานต์โคราดเทวี
โคราดเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับภักษาหาร คือ เตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)
๓. นางสงกรานต์รากษสเทวี
รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ โลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)
๔. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี
มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ นมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)
๕. นางสงกรานต์กิริณีเทวี
กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ ถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)
๖. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ กล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)
๗. นางสงกรานต์มโหทรเทวี
มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)
กิจกรรมวันสงกรานต์
๑. ทำบุญตักบาตร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต
๒. ปล่อยนกปล่อยปลา คนไทยมีความเชื่อว่าการปล่อยนกปล่อยปลา ถือว่าเป็นการอโหสิกรรมและชำระบาปในส่วนที่ตน
เป็นผู้ก่อ อีกทั้งทำให้เคราะห์ร้ายที่จะเกิดขึ้นหมดไป
๓. ให้ทานแก่ผู้ที่ขัดสน เช่น คนชรา เด็กพิการ เด็กกำพร้า เป็นต้น
๔. สรงน้ำพระพุทธรูป และสรงน้ำพระภิกษุสามเณร
๕. การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ได้แก่ บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ และบุคคลที่มีพระคุณ การรดน้ำผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์ ด้วยต้อง
การขอขมาสิ่งที่อาจจะล่วงเกินผู้ใหญ่ ในบางครั้ง รวมถึงเป็นการขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล และข้อคิดเตือนใจแก่ตนเอง อีก
ทั้งเพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณอีกด้วย การรดน้ำ ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ซึ่ง
แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีของบุตรหลานที่มีต่อบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็นการขอพรจากบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่
เพื่อเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่
๖. การละเล่นสาดน้ำ ประเพณีนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของวันสงกรานต์เลยทีเดียว ด้วยงานฉลองวันสงกรานต์นั้นเป็นช่วง ฤดูร้อน ประเพณีเริ่มจากการที่มีการสรงน้ำพระ และรดน้ำญาติผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำนั้นนิยมกันในหมู่ของหนุ่มสาว น้ำที่
ใช้สาดกันนั้นจะใส่น้ำอบ น้ำหอม แต่ในปัจจุบันประเพณีอันดีงามอันนี้ได้จางหายไปตามกาลเวลาและยุคสมัย ใน
ปัจจุบันมีการสาดน้ำกันอย่างรุนแรง รวมถึงได้มีการนำอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการละเล่นสาดน้ำมากขึ้นด้วย
*********